วิธีใช้งานฟังก์ชัน VLOOKUP ใน Microsoft Excel

งานแบบไหนถึงจำเป็นต้องใช้ VLOOKUP ใน Microsoft Excel (MS Excel) ถ้าเรามีข้อมูลอยู่ 2 ชุด โดยที่มีคอลัมน์ที่เชื่อมกันอยู่ เราสามารถค้นหาข้อมูลจากชุดข้อมูลที่เรามี โดยการใช้คอลัมน์ที่เหมือนกันมาเป็นตัวเชื่อมได้

แล้วทำไมต้องใช้ VLOOKUP ก็กด Ctrl + F (ค้นหา) เลยก็เจอแล้ว ใช่ครับ ถ้าหาแค่ค่าสองค่าก็ทำแบบนั้นได้แป๊บเดียว ถ้าเกิดอยากหาทีละร้อยสองร้อยค่าก็คงไม่ไหวเนาะ

ฟังก์ชัน VLOOKUP ต้องการค่าอะไรบ้างในการทำงาน

VLOOKUP(lookup_value, table_array, column_index, [range_lookup])
  • lookup_value คือ ค่าที่เราต้องการค้นหา
  • table_array คือ ชุดข้อมูลปลายทางที่เราต้องการใช้ข้อมูล
  • column_index คือ ลำดับของคอลัมน์ที่เราต้องการใช้ข้อมูล (เริ่มนับจาก 1)
  • range_lookup คือ จะเอาค่าที่ตรงเป๊ะเลย (FALSE/0) หรือ ค่าใกล้เคียง (TRUE/1)
ตารางตัวอย่างสินค้า

จากข้อมูลตัวอย่างด้านบน เราจะเห็นว่าข้อมูลสินค้าเชื่อมโยงกันด้วยสี (color) ถ้าเราอยากได้ราคารวมของสินค้าแต่ละอย่าง เราสามารถใช้ข้อมูลของสินค้าฝั่งขวาในคอลัมน์ G เพื่อจะไปหาราคาจากคอลัมน์ B ในชุดข้อมูลฝั่งซ้ายได้ ด้วย VLOOKUP แล้วนำค่าที่ได้ไปคูณกับคอลัมน์ H ก็จะได้เป็นราคารวมของสินค้าได้ ดังนี้

VLOOKUP(G2, $A$2:$B$5, 2, FALSE) * H2

เราระบุค่าที่ใช้เป็นตัวเชื่อมเป็น G2 คือ color ของสินค้าเพื่อไปเชื่อมกับ table_array ของเรา

จะสังเกตุว่าค่า table_array ($A$2:$B$5) ที่เราระบุจะใส่เครื่องหมาย $ เพื่อไม่ให้ค่าของข้อมูลที่เราใช้อ้างอิงเปลี่ยนไป (A3:B6, A4:B7, …) กรณีที่เรา copy ค่าไปยังแถวอื่นๆ เพื่อนๆ อาจจะลองลบเครื่องหมาย $ เพื่อให้เห็นความแตกต่างครับ

จากนั้น column_index เราเลือกเป็น 2 เพราะเราต้องการ cost มาคำนวณราคารวมของสินค้าครับ

ค่า range_lookup ใส่เป็น FALSE เราต้องการค่าที่ตรงกับค่าที่เราอ้างอิงเลย